มาช่วยกันแก้วิกฤตของการศึกษาไทยกันอีกแรง

Posts tagged ‘Tablet’

เก็บตกจากงานเสวนา Tablet มุมมองกว้าง สร้างปัญญาเด็กไทย

วันนี้ผมได้มีโอกาสไปร่วมฟังงานเสวนา “Tablet มุมมองกว้าง สร้างปัญญาเด็กไทย” ที่โรงแรมเอเชียมา งวดนี้ไปฟัง ไม่ได้ไปร่วมเสวนา รู้สึกเสียดายและประหลาดใจ เพราะว่า งานนี้เสวนาเรื่อง Tablet แต่ผู้ร่วมเสวนา 4 ท่าน ไม่มีใครเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไอที (ตัวจริง) เลย รวมทั้งผู้ฟังด้วย เลยทำให้ข้อมูลไม่ค่อยครบถ้วน หลายครั้งๆ หลายหน ที่มีการพูดถึงในแง่เทคนิคแล้ว เข้าใจผิด หรือไม่ทราบว่า ปัญหาที่ผู้ร่วมเสวนา กังวลอยู่นั้น สามารถแก้ไขได้ด้วยเทคโนโลยี ตัวอย่างเช่น

ผู้ร่วมเสวนาท่านหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า ที่ห้องคอมพ์ของโรงเรียนแห่งหนึ่งติดกระจกเงาไว้หลังห้อง เพื่อครูที่อยู่หน้าชั้นจะได้มองเห็นว่านักเรียนใช้คอมพ์ทำอะไรอยู่ แล้วพูดติดตลกว่า หากเป็น Tablet คงต้องติดกระจกบนเพดาน ผมฟังแล้วก็ขำนะว่า คิดได้ไง เพราะหากผมเป็นฝ่ายผู้เชี่ยวชาญด้านไอที ที่ร่วมวงเสวนา ผมคงไม่ทำให้คนฟังคิดเป็นจริงเป็นจังว่า นี่เป็นปัญหาของการใช้ Tablet ในทางปฏิบัติแล้ว ผมบอกได้เลยว่า มันมีแอพที่ช่วยในการ monitor และป้องกัน เช่น ในเครื่องมีบันทึกตารางสอนว่า วันนี้เวลานี้ เรียนอะไร แอพที่จะรันได้คือแอพของวิชานั้น เป็นต้น หลายๆ คน ห่วงเรื่อง content เรื่องการจัด rating การเข้าเว็บไม่เหมาะสม ผลกระทบต่อสุขภาพ พัฒนาการของเด็ก และเรื่องติดเกมส์ ว่ากันว่า Tablet เป็นดาบสองคม

ประเด็นข้างต้น ไม่ได้มีอะไรใหม่ในความคิดของผมนัก หลายๆ เรื่อง ผมก็งงกับผู้เข้าร่วมเสวนาว่า เขากำลังคิดอย่างไร ตัวอย่างเช่น ผู้ร่วมฟังท่านหนึ่งกล่าวว่า เด็กเล็กต้องพัฒนาหลายๆ ด้าน ไม่ใช่ว่าให้ใช้ tablet แล้วเขียนไม่เป็น ไม่ได้ออกกำลังกาย (ตัวท่านที่พูด เปิดโรงเรียนสอนเด็ก โดยมีการใช้ดนตรีคลาสสิก) ผมก็มานั่งคิดว่า มีใครบอกเหรอว่า เมื่อใช้ Tablet แล้ว จะไม่สอนเด็กเขียน จะไม่ฝึกกล้ามเนื้ออื่น การเรียนการสอนอื่นๆ ที่จำเป็นก็ยังทำได้ตามเดิม

วิทยากรท่านหนึ่งพูดถึงการเรียนเรื่องภาษาที่เด็กเล็กต้องดูปากของผู้สอน เพื่อจะได้สามารถออกเสียงตามได้ ผมก็คิดตามว่า ก็ดีซิ อย่างนี้ สื่อหนึ่งที่ควรมีใน Tablet เพื่อช่วยสอนเด็ก ก็อาจทำเป็นวิดีโอรูปปาก ให้เด็กทำปากตาม หรือใช้กล้องหน้า (กล้องที่อยู่ด้านเดียวกับหน้าจอ ถ้ามีนะ) ถ่ายรูปปากเด็ก เปรียบเทียบกับปากตัวอย่างใน VDO จะได้รู้ว่า ทำปากเหมือนหรือยัง นี่ก็อาจเอาไปประยุกต์กับวิชาอื่นๆ ที่สอนเกี่ยวกับลักษณะท่าทางได้ด้วย เช่น รำไทย กีฬา มารยาท แล้วแต่สมองเราจะคิดออก

ผมยกตัวอย่างพอให้เห็นภาพนะครับ ในช่วงท้ายที่ผมได้มีโอากสแสดงความคิดเห็น ผมก็พูดอย่างชัดเจนเลยว่า ผู้เข้าร่วมเสวนาครั้งนี้ ส่วนใหญ่ยังมีความรู้เรื่องไอทีและเท็บเลตไม่เพียงพอ จนทำให้วิพากย์ออกมาแต่ปัญหา และคำถาม ครั้นผมจะไปอธิบายให้ฟังก็ไม่มีเวลา และคงต้องคุยกันยาว เพราะผมก็มีไอเดียมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้

ผมกล่าวแสดงความคิดเห็นสุดท้ายไว้ว่า การเสวนาครั้งนี้ ยังพูดกันในมุมมองเดิม (คิดๆ แล้วเมื่อสมัยที่ครั้งหนึ่ง พูดถึงการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการศึกษา) เช่น มองว่าใช้ Tablet แทนหนังสือ แทนครู แทนเครื่องคอมพ์ แทนการเรียนการสอนทุกอย่าง สำหรับคำแนะนำของผมแล้ว เราควรจะใช้ Tablet เพื่อทดแทนจุดอ่อนด้านการศึกษาของเรามากกว่า (ลองนึกดูซิว่าอะไร คือ จุดอ่อน) เช่น การประเมินผล โดยผมได้ยกตัวอย่างให้ฟังว่า จะเป็นอย่างไร หากจบคาบการสอน แล้วเรารู้ว่าเด็กคนไหนเรียนรู้เรื่อง หรือไม่รู้เรื่อง แถมผู้ปกครองก็รู้ด้วยว่า ลูกของตนเรียนอะไรไม่เข้าใจ ครูให้มาฝึกฝนเรื่องอะไรเป็นพิเศษ มันสามารถจะรู้ได้ผ่าน Tablet (ถ้าแอพดีๆ) และความจริง หากเรามีแอพที่สามารถช่วยวินิจฉัยเด็กเรื่องการเรียนรู้ได้ ก็จะช่วยหาหนทางในการส่งเสริมการเรียนของเด็กได้เหมาะสม อย่างที่ควรจะเป็น คือ ไปในทิศทางของ Personalized learning

อ้อ ในวงเสวนา มีคนพูดถึงว่า เนื้อหาควรเหมาะสมกับท้องที่ หรือชีวิตประจำวัน ทำให้ผมอดคิดถึงแนวคิดหลายๆ เรื่องที่ผมได้จากการสัมภาษณ์เคสต่างๆ ลงในนิตยสาร Eworld อย่างเช่น การใช้ Tablet กับชีวิตของนักเรียนและครอบครัว ผมคิดเล่นๆ ว่า หากเด็กเรียนบวกลบเลข แต่เอามาทำบัญชีครัวเรีือนผ่านแอพง่ายๆ ให้เด็กหัดบันทึกบัญชีรายได้ ค่าใช้จ่าย แต่ให้บวกลบเอง โดยเครื่องตรวจสอบความถูกต้องให้ เราได้หลายเด้งเลย คือ เด็กได้หัดคิด พ่อแม่ได้รับรู้เรื่องบัญชี ยิ่งหากข้อมูลส่งกลับมาที่ server คุณเดาออกไหมว่า รัฐบาลจะได้อะไร หรืออย่างถ้ามีแอพประเภท talking dict หรือแอพด้านสาธารณสุข เช่น แอพที่ให้คำแนะนำเบื้องต้นเมื่อคนในครอบครัวไม่สบาย เป็นต้น

ความจริงแล้ว งานนี้ คนที่พัฒนาแอพ น่ามาฟัง จะได้ requirement หลายอย่าง เพื่อเอาแนวคิด และปัญหาต่างๆ มาพัฒนาแอพ เพราะในวงเสวนา เห็นตรงกันว่า แอพและ content คือประเด็นสำคัญ

งานนี้มีบางคนที่ออกตัวเลยว่า ฉันไม่เอา Tablet จะทำหนังสือถึงนายก ผมกลับคิดว่า เขาก็ไปรวมคนที่ไม่เอา Tablet ไป

และบางคนที่เอ่ยปากออกมาว่า “ทำไมเราต้องมานั่งคิดว่าทำอย่างไรให้ Tablet เหมาะกับนักเรียน ป 1” แต่หากเป็นผม คงมองทั้ง 2 ด้านว่า tablet จะเหมาะกับเด็ก ป 1 หรือเด็กชั้นอื่น มันอาจมีประเด็นให้ขบคิด ก็ต้องขบคิดด้วยการตั้งคำถามใหม่ว่า “จะต้องทำอย่างไร จึงจะนำ Tablet มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับการศึกษาได้” ของมันแน่อยู่แล้วว่า มันต้องมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย แต่คุ้มไหม และหากไม่ปล่อยให้กระทรวงศึกษาคิดคนเดียว กระทรวงอื่นๆ ก็มีสิทธิที่จะได้ประโยชน์จากแท็บเลตนี่นะ

ใครบอกไม่เอา Tablet ก็รวมตัวกันไป ในขณะที่คนจะเอา Tablet ก็รวมตัวกันไป เสร็จแล้วเดาซิว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร มีโรงเรียนนำร่อง มายั่วให้พวกที่ไม่เอา Tablet มาคิดใหม่ว่า ดีกว่าไม่ได้อะไร

เกาหลีใต้จะเอาหนังสือทั้งหมดลง Tablet ภายใน 2015

หลังจากโพสต์เรื่อง iPad เริ่มเข้าโรงเรียนไทย น้องสุรพัฒน์ก็ส่งข่าวมาให้ดูว่า เกาหลีจะเอาหนังสือทั้งหมดลง Tablet ภายในปี 2015 จากรูปเห็นเลยว่า เขาชาตินิยม คือใช้ Samsung Galaxy

สำหรับเมืองไทย หลายกระแสออกมาเล่นข่าว Tablet ที่จะให้กับเด็ก ป 1 ว่า คงเป็น Tablet ประเภทของเล่นมากกว่าจะเป็นแบบที่คนทั่วไปคาดหวังไว้ เอาเถอะเรื่องนั้น ไว้ค่อยมาดูกันตอนที่มันชัดเจนกว่านี้ก็แล้วกัน