มาช่วยกันแก้วิกฤตของการศึกษาไทยกันอีกแรง

พ่อแม่หลายคน ยอมรับว่าปัญหา “การสั่งงาน และการทำงานส่งแบบ Copy and Paste” เป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้ลูกของตนไม่ได้รับความรู้ ทั้งๆ ที่ควรจะได้มากเลย แต่การจะแก้ปัญหานี้ควรจะทำอย่างไรล่ะ ส่วนใหญ่ผมได้ยินแต่คำบ่น แต่ไม่ได้ยินคำตอบ

เริ่มแรกเลย อยากขอเสียงจากพวกเราก่อนว่า เห็นด้วยไหมว่า อินเตอร์เน็ตเป็นแหล่งข้อมูลที่มีประโยชน์ สามารถนำมาใช้ในการเรียนได้ (ผมเดาได้เลยว่า จะมีคนคิดทันทีว่า ต้องระวังเรื่องเว็บไม่เหมาะสม บางทีข้อมูลในเว็บก็ไม่ถูกต้อง เป็นต้น ประเด็นแบบนี้ เป็นประเด็นเดิมๆ แถมยังเป็นประเด็นที่มักจะทำให้วงสนานาหยุดการคิด เพราะมัวแต่กังวลเรื่องพวกนี้ ซึ่งบางประเด็นแก้ได้บ้าง เช่น หากใช้ google ในการ search เราสามารถให้ google กรองเว็บไม่เหมาะสมได้ หรือติดตั้งโปรแกรมช่วยกรอง เป็นต้น แต่เว็บพวกนี้มันก็มีความพยายามที่จะหาวิธีที่จะหลุดลอดจากโปรแกรมกรองเหล่านี้ออกมา

แต่หากให้เลือก ผมก็ยังเลือกว่าจะใช้อินเตอร์เน็ตกับการศึกษาของลูกอยู่ดี เพราะผมเชื่อว่า ประเด็นปัญหาพวกนั้นป้องกันได้หลายทาง และโอกาสที่จะเกิดความเสียหายน้อยกว่าโอกาสที่จะเกิดประโยชน์มาก ชั่งน้ำหนักดูแล้วคุ้ม

ที่ต้องถามก่อน ก็เพราะผมเบื่อคนที่ชอบยกประเด็นปัญหาเดิมๆ จนทำให้เราไม่สามารถก้าวพ้นไปสู่ความก้าวหน้าในการแก้ปัญหา โดยเมื่อเราเห็นด้วย คำถามที่เราจะถามกันต่อ ก็จะเป็นคำถามใหม่ว่า “เราจะต้องทำอย่างไร จึงจะแก้ปัญหา Copy and Paste ได้”

ทีนี้ขอย้อนกลับมาที่แนวคิดเบื้องต้นของการศึกษาก่อนว่า การที่นักเรียนจะเรียนรู้ได้นั้น กระบวนการหรือขั้นตอนมันเป็นอย่างไร

เริ่มแรก ครูอาจเป็นผู้สอนนักเรียน หรือให้นักเรียนไปสืบค้นข้อมูลเอง ซึ่งประเด็นปัญหาเริ่มต้นตรงนี้แหล่ะ (แต่มันไม่ได้มีแค่ตรงนี้) คือ
– ครูที่ให้งาน ก็คิดว่า นี่เป็นวิธีการที่จะให้นักเรียนรู้จักค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง
– นักเรียนที่ไปค้นหาในอินเตอร์เน็ต พอค้นเจอ ก็ select copy paste print โดยคิดว่า นี่คือ กระบวนการเรียนรู้ที่ครูอยากให้เราทำ
– ผู้ปกครอง ก็มีหลายประเภท ทั้งแบบที่ไม่สนใจ แบบที่ลงมือช่วยลูก กับแบบที่สอนลูกว่าควรทำอย่างไร (แบบหลังมีน้อย)
– พอนักเรียนส่งงาน ครูตรวจแล้วให้คะแนน ทุกอย่างที่เราคิดว่าจะกลายเป็นความรู้ มันกลายเป็นขยะ เก็บไว้ในตู้ หรือลิ้นชัก และปลายเทอมก็ขนไปทิ้ง

ดังนั้น การปรับเปลี่ยนเพื่อแก้ปัญหา จึงต้องคิดทำแบบใหม่ ต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง นำแนวคิดของการเรียนรู้ในยุคใหม่มาใช้

โดยเริ่มหลังจากที่ครูสั่งงาน แล้วเด็กไปค้นข้อมูลมา แทนที่จะพิมพ์เป็นรายงานส่งครู แล้วจบ เรามาทำขั้นตอนใหม่ คือ
“รวมหัวกันหาข้อมูล แล้วมาแบ่งปันดีกว่า”

หากเทียบกับแบบเก่า เมื่อนักเรียนคนหนึ่งหาข้อมูลมา เขาก็รู้เฉพาะสิ่งที่เขาหามาได้ ดังนั้น ใครหามาได้น้อย ก็รู้น้อย ใครหามาเยอะ ก็รู้เยอะ โดยที่ครูก็ไม่ได้เอาความรู้ที่ได้มาเยอะๆ จากนักเรียนทุกคนมารวม แล้วแบ่งปันกลับไปให้นักเรียนทุกคนในห้อง (ไม่ซิ ไหนๆ ก็จะทำเพื่อทั้งห้องแล้ว ทำไมไม่ทำให้ทุกคนในชั้นปีเดียวกันแชร์ข้อมูลกันได้ไปเลยล่ะ หรือแบ่งปันไปต่างโรงเรียนได้รับรู้)

หลายคนอาจคิดว่า ผมเพ้อฝัน จะทำได้อย่างไร ก็ลองคิดดูก่อนซิว่า ถ้าเป็นคุณ คุณคิดว่าจะทำได้อย่างไร

ในแนวทางที่ผมคิดไว้ ก็เช่น

  • การใช้ mindmap เพื่อรวบรวมข้อมูลจากหลายคน
  • การตั้ง Group ใน Facebook แล้วแต่ละคนใส่ข้อมูลแทน comment
  • การใช้ Blog ทำแบบเดียวกับ facebook
  • การใช้ google docs เพื่อใส่ข้อมูลลงในไฟล์เดียวกัน
  • ใช้ Wikipedia

จะเห็นว่า มีหลายไอเดีย ส่วนใหญ่จะอาศัยเครื่องมืออย่าง social media ในการเรียนร่วมกันทั้งสิ้น แต่หากจะให้ได้ผลดี มีสิ่งที่ต้องตกลงกันก่อน ไม่เช่นนั้น ปัญหาต่อไปนี้จะเกิดขึ้น

  • นักเรียนแต่ละคนจะ copy เนื้อหาทั้งหมดมาวาง เพราะแค่กดปุ่ม 3 ครั้ง คือ Ctrl-A, Ctrl-C, Ctrl-V
  • เนื้อหาจะซ้ำกันมากน้อย ยากต่อการรวบรวม เพราะไม่มีการสกรีนก่อน

 

ดังนั้น กติกา และวิธีการเพิ่มเติมที่ต้องระบุ คือ

  • ให้นักเรียนแตกข้อมูลที่ copy มาทั้งดุ้นนั้น ให้เป็นชิ้นสาระเล็กๆ เพื่อให้ง่ายต่อการเช็คข้อมูลซ้ำซ้อน ง่ายต่อการจัดหมวดหมู่และลำดับ สิ่งที่นักเรียนจะได้จากขั้นตอนนี้ คือ การสกัดเอาสาระสำคัญออกมาเป็นประเด็นๆ ครูที่เก่งจะเห็นความสามารถของนักเรียน จากชิ้นสาระเหล่านี้ได้
  • เริ่มนำชิ้นสาระมาขึ้น mindmap หรือเครื่องมืออื่นๆ จัดข้อมูลต่างๆ เข้าเป็นกลุ่ม ซึ่งเครื่องมือที่จะช่วยทำได้สะดวก เห็นจะเป็น mindmap บน computer ที่เราสามารถลากเพื่อโยกย้ายโหนดได้สะดวก
  • ครูและนักเรียนพิจารณาข้อมูลที่จัดระเบียบเรียบร้อยแล้ว ดูว่า มีอะไรที่ยังขาดไป ควรหาข้อมูลอะไรมาเสริม มีข้อมูลอะไรที่ขัดแย้งกัน (ข้อมูลไหนถูก)
  • ทั้ง 2 ฝ่ายเริ่มกระบวนการเรียนรู้จากข้อมูลทั้งหมดว่ามีอะไรไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง ถึงตรงนี้ครูต้องยอมรับว่า บทบาทของครูไม่ใช่คนที่สอน คนที่รู้ทุกอย่าง อะไรที่ไม่รู้ ก็ว่าไม่รู้ แล้วไปทำเป็นการบ้านต่อ เช่น ถามคนที่รู้ ถาม ผปค เก่งๆ
  • หากลไกที่จะทำให้เกิดความร่วมมือกันได้สะดวกในแต่ละขั้นตอน, กลไกที่จะลดความขัดแย้งทางความคิด เช่น ในตัวอย่าง ผมแนะนำให้ใช้ mindmap บนคอมพ์ แต่ครูใช้ไม่เป็น (ข้อแก้ตัวคลาสิค ทีเด็กทำไม่ได้ยังถูกด่า ครูทำไม่ได้ ไม่เห็นไปขวนขวายหาความรู้) เราให้เด็กในชั้นช่วย เพราะข้อดีของเด็ก คือ เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีได้ไว

กระบวนการต่อยอดทางความรู้
หากครูให้นักเรียนทุกห้องทำเรื่องเดียวกัน โอกาสที่จะได้ความรู้ซ้ำๆ กันมีสูงมาก แล้วนักเรียนจะได้ประโยชน์อะไรจากการรวบรวมและแบ่งปันความรู้แบบนี้ แต่ครั้นให้นักเรียแต่ละห้องไปหาความรู้กันมาคนละด้าน เพื่อหวังว่าจะนำของทุกห้องมาประกอบกันได้ การแบ่งห้อง Gifted ห้องเด็กอ่อน เด็กฝาก จะทำให้มั่นใจได้อย่างไรว่าเนื้อหาความรู้ที่ได้จากดีพอ เช่น ไม่มั่นใจว่าห้องเด็กเรียนอ่อนจะหาข้อมูลความรู้ดีๆ มาได้ หรือแม้แต่ห้อง Gifted จะแน่ใจได้อย่างไรว่า จะไม่หวงความรู้ หรือไม่อยากให้คนอื่นดีกว่าตน

การให้คะแนน
เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องเปลี่ยน ครูที่ทำงานเหมือนตำรวจ คือ ทำผิด ตำรวจจับ ทำมาไม่ดี ก็ได้คะแนนน้อย แทนที่จะคิดว่า ทำอย่างไร นักเรียนถึงจะเรียนได้ความรู้ โดยใช้คะแนนเป็น reward มากกว่าเป็น indicator

ตรงนี้ขอขยายความ เพราะ คนมักสับสน ที่บอกว่าเป็น indicator เพราะคะแนนที่ให้กับงาน ไม่เหมือนตอนสอบ ตอนสอบ เด็กทำถูกผิด มันเป็นตัววัดความเข้าใจหลังจากที่เรียนมา แต่คะแนนสำหรับงาน เราใช้มันเป็นตัวล่อ (reward) เพื่อให้เด็กมีพฤติกรรมในการเรียนรู้ในแบบที่เหมาะสม

อย่างกรณีแบบนี้ เราจะให้คะแนนนักเรียนอย่างไรดี เช่น นักเรียนที่หาข้อมูลดีๆ มาได้มาก ควรจะได้คะแนนมากใช่ไหม คะแนนจะได้เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมที่เราอยากให้เป็น เช่น นักเรียนก็จะ search อย่างเมามัน แล้วก็ copy มามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้ได้คะแนนมาก โดยที่อาจจะไม่ได้อ่านหรือทำความเข้าใจกับสิ่งที่หามา หรือการที่เด็กลอกจากแหล่งข้อมูลเดียวกัน ซึ่งทำให้ข้อมูลรวมที่ได้ซ้ำกันมาก ไม่เป็นประโยชน์

เราก็อาจใช้วิธีแบ่งผลประโยชน์ของ Lotto ในอเมริกา คือ เงินรางวัลคงที่ หากคนซื้อเลขที่ถูกรางวัลหลายคน ตัวหารก็เยอะ ได้กันไปคนละนิด

วิธีการแบ่งคะแนนแบบนี้ ก็อาจจะทำให้พฤติกรรมต่างออกไป เช่น แทนที่ search จาก google ไว้เอาข้อมูลในอันดับแรกๆ ที่เจอเลย หรือการใช้เว็บยอดนิยมจาก Wiki ก็อาจทำให้เด็กรู้ว่า Wiki ทำให้ตนได้คะแนน แต่น้อย เพราะถูกแบ่งให้คนอื่น

ดังนั้นก็อาจดัดแปลงวิธีให้คะแนนให้ดีขึ้น เช่น หากมีคนเสนอชิ้นสาระนั้น 1 คน ก็เอาไป 1 คะแนน หากมีคนถัดมาเสนอสาระเดียวกัน ก็แบ่งครึ่ง แต่พอมีคนที่สามตามมาอีก คนที่สามแบ่งกับคนที่ 2 คนละครึ่ง โดยไม่กระทบคนที่ 1 นั่นทำให้การหาข้อมูลมาได้เร็ว ทำให้มีคะแนนสูงกกว่าคนอื่น ส่วนคนที่หามาช้ากว่าเพื่อนก็ต้องค่อยรับส่วนแบ่งที่น้อยลงเรื่อยๆ เป็นต้น

มาถึงตรงนี้ คุณจะคงจะเข้าใจแล้วว่า กระบวนการ copy and paste มันเป็นปัญหาเพราะ คนทำให้มันเป็นกระบวนการที่ทำแล้วจบ ทั้งๆ ที่มันเป็นแค่กระบวนการเริ่มต้นเท่านั้น และคุณจะเห็นว่า นักเรียน และครูของเราทำเป็นเพียงขั้นตอนนี้เท่านั้น ขั้นตอนถัดมาในการใช้เครื่องมือเพื่อรวบรวมและแบ่งปันความรู้นั้น แทบจะไม่มีเลย เพราะทำกันไม่เป็น ไม่เคยมีใครสอนให้ทำแบบที่ผมเสนอ

ไปๆ มาๆ วิชาคอมพิวเตอร์ แทนที่จะสอนเรื่องเวิร์ด เอ็กเซล โฟโต้ชอป 3D กราฟิก น่าจะหันมาสอนใช้ social media เพื่อการเรียนรู้จะเหมาะกว่า ซึ่งครูสอนคอมพ์ในบ้านเราก็ไม่ถนัดเรื่องเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

ปัญหาอย่างหนึ่งที่เราจะพบได้เลยอย่างแน่นอนก็คือ
ครูยึดติดกับข้อมูลเก่าที่อาจล้าสมัย ในขณะที่ทุกวันนี้ ความรู้มีการอัพเดตตลอดเวลา มีอะไรใหม่ๆ รวมทั้งไปในแนวลึก แตกแขนงขอบเขตไปแนวกว้าง ทำให้ครูมีความรู้ไม่เพียงพอที่จะสอนเสียแล้ว สิ่งนี้ส่งผลให้ครูที่ยังมีทัศนคติแบบเดิมๆ ว่า ครูคือคนสอน ต้องมีความรู้มากกว่านักเรียน กลายเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ครูจำเป็นต้องมีผู้ชำนาญการมาคอยช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็น อจ จากมหาวิทยาลัย ผู้ปกครองที่ทำงานในสายงานที่มีความรู้เฉพาะในเชิงลึก

ซึ่งการจะมีคนมาช่วยก็ต้องเปลี่ยนทัศนคติของครูที่มักจะมอง ผปค ว่าเป็นเพียงพ่อแม่นักเรียนเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ครูต้องสอนเด็กด้วยว่า ข้อมูลนั้นมาจากไหน ระบุแหล่งที่มาด้วย เพื่อจะได้ย้อนกลับไปดูได้ รวมทั้งประเมินคุณภาพของข้อมูล

โดยสรุปแล้ว บอกได้เลยว่า การแก้ปัญหา ไม่ซิ ผมต้องพูดว่า เรากำลังจะหาวิธีการเรียนรู้ที่ดีกว่าเดิมมากกว่า (การ copy and paste มันเป็นขั้นตอนหนึ่งในการเรียนรู้) ซึ่งเราต้องคิดและออกแบบขั้นตอนต่อไปให้เหมาะสมต่างหาก

ถ้าบอกว่า วิธีการของผมยุ่งยาก ซับซ้อนจัง ก็ต้องถามกลับว่า แล้วมีไอเดียอะไรมาเสนอไหมล่ะ

ผมอยากจะจัดเสวนา หรือสนทนา กับครู และใครก็ได้ที่สนใจจะแก้ปัญหานี้สักตั้ง ผมว่า เรามีทางออกแน่!

Comments on: "ร่วมคิด ร่วมแก้ ปัญหา “การสั่งงาน และการทำงานส่งแบบ Copy and Paste”" (3)

  1. สุรพัฒณ์ วิเศษพจนกิจ said:

    ความคิดก้าวหน้ามากครับ แต่ก็ยังสงสัยอยู่ว่าจะมีคุณครูหรือนักเรียนโรงเรียนไหนบ้างไหมที่อยากลองการเรียนการสอนรูปแบบใหม่นี้ ซึ่งถ้าจะทำอย่างนี้เข้าใจว่าจะมีแรงต่อต้านจากทั้งนักเรียน (ทำรายงานอยากขึ้น) และแรงต่อต้านจากคุณครู (สอนยากขึ้น ต้องฝึกฝนทักษะใหม่ๆ พอควร) แต่ถ้าแนวคิดแบบนี้เกิดขึ้นได้จริง ผมว่าสวยงามมากครับ

    • ณรงค์พร เหล่าศรีสิน said:

      เพราะอย่างนี้ไง พี่ถึงได้ใช้รูป avatar เป็นรูป Superman
      และมีหนังเรื่อง Waiting for superman เป็นแรงบันดาลใจในการเริ่มต้น Blog นี้
      แต่ไม่ได้หมายความว่า พี่เป็น superman คนเดียวนะ
      ครู นักเรียน เขาก็เป็น Superman ได้
      งานนี้ต้องการ Superman หลายคนที่คิดว่า เรื่องยากแค่นี้ ฉันว่าน่าจะทำได้นะ
      ลองทำดูดีกว่า อะไรทำนองนี้ครับ

  2. สุรพัฒณ์ วิเศษพจนกิจ said:

    ไม่แน่ใจ่ว่าในต่างประเทศนักเรียนเขาทำรายงานส่งครูกันแบบไหน หรือมีประเทศไหนในโลกบ้างไหมที่มีแนวคิดในการให้นักเรียนเป็่นศูนย์กลางในการรวบรวมองค์ความรู้เหมือนอย่างแนวคิดนี้ น่าสนใจจริงๆ ครับเรื่องนี้

    จำได้ว่าสมัยที่ผมยังเรียนหนังสืออยู่ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ยังไม่เจริญก้าวหน้าเหมือนทุกวันนี้ เวลาอาจารย์สั่งให้ทำรายงาน ก็ต้องเข้าห้องสมุด แล้วคัดลอกเนื้อหาจากในหนังสือส่งเป็นรายงานให้อาจารย์ ซึ่งอาจดูเหมือนไม่ค่อยสร้างสรรค์ แต่ในระหว่่างที่คัดลอกเนื้อหาเราก็ได้อ่านไปด้วย และก็ได้ความรู้ไปด้วย ไำม่เหมือนสมัยนี้ Copy กันได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องเสียเวลาอ่านเนื้อหากันเลย

ใส่ความเห็น